หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิคคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย:        วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค

ภาษาอังกฤษ:     Bachelor of Science Program in Radiological Technology

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ภาษาไทย):        วิทยาศาสตรบัณฑิต (รังสีเทคนิค)

ชื่อย่อ (ภาษาไทย):         วท.บ. (รังสีเทคนิค)

ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ):    Bachelor of Science (Radiological Technology)

ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ):     B.Sc. (Radiological Technology)

สถานที่ตั้ง

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์

123 หมู่ 16 ถ.มิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น 40002

ความเป็นมาของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค  คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำเนิดขึ้น เมื่อ พ.ศ.2543 เปิดรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรังสีเทคนิค เข้าศึกษาต่อเนื่องเป็นระดับปริญญาตรี  ผลิตบัณฑิตทั้งสิน 11 รุ่น 200 กว่าคน  และปิดรับนักศึกษา ในปี พ.ศ. 2553  ปัจจุบันมีการปรับปรุง เมื่อปี พ.ศ. 2560  โดยสภามหาวิทยาลัย อนุมัติหลักสูตรในการประชุมครั้งที่10/2560วันที่ 4 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2560 เปิดสอน และเปิดรับ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6  เป็นรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2561

นโยบาย

มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ตรงที่สอดคล้องกับการประกอบวิชาชีพ มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน มีทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการแก้ปัญหา การพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาชีพรังสีเทคนิค  มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ เข้าใจในสถานการณ์ของโลก สังคม สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสังคมและตลาดงาน  ภายใต้กลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

วิสัยทัศน์

เป็นสถาบันการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย  และมนุษยชาติ

พันธกิจ

ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้  ความสามารถ และคุณธรรมเพื่อรองรับความขาดแคลนนักรังสีเทคนิคในงานบริการสาธารณสุขของประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ และสร้างองค์ความรู้ทางรังสีเทคนิคเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศ  และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม   เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็งและมีดุลยภาพ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2560) มีวัตถุประสงค์

เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังนี้

1) มีความรู้และประสบการณ์ สามารถปฏิบัติงานในสาขาวิชารังสีเทคนิค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กฎ ระเบียบ และจรรยาบรรณวิชาชีพ ที่กำหนดไว้ในสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพ

2) มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และริเริ่มสร้างสรรค์ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชารังสีเทคนิคในการแก้ไขปัญหา

3) มีความสามารถในการติดต่อสื่อสาร การวิเคราะห์ วิจัย การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการสมัยใหม่ และการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น

4) มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการ/วิชาชีพ ตระหนักในบทบาทและมีความรับผิดชอบทั้งบริบท ทางวิชาการ วิชาชีพและชุมชน มีทักษะความพร้อมทางด้านสังคมที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต

5) เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเอื้ออาทร มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานเป็นทีมกับสหสาขาวิชาชีพ และหรือหน่วยงาน สถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ

การดำเนินการเรียนการสอน

ภาคการศึกษาต้น               เดือนสิงหาคม –เดือนธันวาคม

ภาคการศึกษาปลาย            เดือนมกราคม –เดือนพฤษภาคม

ภาคการศึกษาพิเศษ            เดือนมิถุนายน–เดือนกรกฎาคม (ถ้ามี)

โครงสร้างหลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร                              143 หน่วยกิต

(1)  หมวดวิชาศึกษาทั่วไป                                           30       หน่วยกิต

       (1.1) กลุ่มวิชาภาษา                                           12       หน่วยกิต

       (1.2) กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์             12       หน่วยกิต

       (1.3) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์                 6      หน่วยกิต

(2)  หมวดวิชาเฉพาะ           ไม่น้อยกว่า                       107      หน่วยกิต

        (2.1) กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ                                32      หน่วยกิต

        (2.2) กลุ่มวิชาบังคับ                                           75      หน่วยกิต

              (2.2.1) กลุ่มวิชาบังคับพื้นฐาน                           3     หน่วยกิต

              (2.2.2) กลุ่มวิชาชีพ                                     60      หน่วยกิต

              (2.2.3) กลุ่มวิชาฝึกงานและสหกิจศึกษา             12      หน่วยกิต

(3)  หมวดวิชาเลือกเสรี     ไม่น้อยกว่า                            6     หน่วยกิต

Download Brochure แนะนำหลักสูตร

ลักษณะของงานที่ทำเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค ผลิตบัณฑิตเพื่อใช้งานเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางด้านรังสีที่เป็นเทคโลยีชั้นสูงและมีราคาแพง  สำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรค  โดยปฏิบัติงานเป็นนักรังสีการแพทย์ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับการนำรังสีมาใช้ในทางการแพทย์ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านรังสีวินิจฉัย ทำหน้าที่ถ่ายภาพรังสีโดยใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป เครื่องเอกซเรย์เต้านม สร้างภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์  และถ่ายภาพที่ไม่ใช้รังสีโดยใช้เครื่องสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก เป็นต้น  รวมทั้งทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของการถ่ายภาพรังสี ด้านรังสีรักษา ทำหน้าที่ควบคุมการใช้เครื่องจำลองการรักษา เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 เครื่องเร่งอนุภาค เครื่องสอดใส่สารกัมมันตรังสี เป็นต้น เพื่อให้ปริมาณรังสีและตรวจสอบขอบเขตการรักษาให้ถูกต้องตามแผนการรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทำหน้าที่ถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจและรักษาด้วยสารเภสัชรังสีโดยใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องถ่ายภาพรังสีแกมมา นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืออาจารย์ทางรังสีเทคนิคและสาขาที่เกี่ยวข้อง

งานทางรังสีวินิจฉัย
งานทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
งานทางรังสีรักษา

ความก้าวหน้าในการทำงาน

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขารังสีเทคนิค สามารถขอสอบขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เพื่อใช้ประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในตำแหน่งนักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ และจะได้รับค่าตอบแทนในส่วนของใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคนี้ด้วย   นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสาขาที่เกี่ยวกับงานที่ทำ

โอกาสในการมีงานทำ 

ปัจจุบันยังถือว่านักรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนมากที่สุดสาขาหนึ่ง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน และมีค่าตอบแทนสูง  มีการจองตัวเข้าทำงานตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตร   นอกจากจะทำงานเป็นนักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์แล้ว บัณฑิตยังสามารถทำงานเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ หรือศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขารังสีเทคนิค และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทำงานภาคธุรกิจ เป็นผู้แทนฝ่ายขาย ผู้สนับสนุนการขายตามบริษัทจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์หรือเลือกเป็นผู้ประกอบการอิสระได้

การศึกษาต่อ

สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขารังสีเทคนิคและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น รังสีเทคนิค วิทยาศาสตร์รังสีการแพทย์ ฟิสิกส์การแพทย์ นิวเคลียร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ วิศวกรรมนิวเคลียร์ วิศวกรรมชีวเวช ชีวเวชศาสตร์    หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพด้านอื่น ๆ ที่สนใจ

ข้อมูลเพิ่มเติม

Facebook/Radioteck kku

Website: www.radiology.kku.ac.th

โปสเตอร์แนะนำหลักสูตร