หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ พ.ศ. 2565

Training

Residency Training in Nuclear Medicine

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์

NM KKU2

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ พ.ศ. 2565

ข้อมูลโดยย่อของหลักสูตร

ชื่อสาขา

ภาษาไทย

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ภาษาอังกฤษ

Residency Training in Nuclear Medicine

ชื่อหนังสือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชํานาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ชื่อเต็ม

ภาษาไทย

วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ภาษาอังกฤษ

Diploma of the Thai Board of Nuclear Medicine

 

ชื่อย่อ

ภาษาไทย

วว. เวชศาสตร์นิวเคลียร์

ภาษาอังกฤษ

Dip., Thai Board of Nuclear Medicine

 

คําแสดงวุฒิการฝึกอบรมท้ายชื่อ

ภาษาไทย

วว. เวชศาสตร์นิวเคลียร์

ภาษาอังกฤษ

Diplomate, Thai Board of Nuclear Medicine หรือ Dip., Thai Board of Nuclear Medicine

หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้กํากับดูแลการฝึกอบรมและที่เกี่ยวข้อง

  • หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การกำกับดูแลของราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

พันธกิจของหลักสูตรการฝึกอบรม

สถานการณ์ของสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในประเทศไทย

เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นสาขาทางการแพทย์ที่นำหลักการการใช้รังสีจากแหล่งกำเนิดที่ไม่ปิดผนึกมาใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคโดยการถ่ายภาพทางรังสี และการรักษาโรค โดยต้องอาศัยความรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ร่วมกับความสามารถในการทำหัตถการ ในการดูแลผู้ป่วยก่อน ในระหว่าง และหลังการตรวจหรือรักษาด้วยสารเภสัชรังสี รวมถึงการป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งแก่ผู้ป่วย บุคคลแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และสภาพแวดล้อม

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีการพัฒนาขึ้นอย่างมากทั้งทางด้านภาพถ่ายทางรังสี และการรักษาโรคด้วยสารเภสัชรังสีชนิดต่าง ๆ ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยจึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ให้มีความทันสมัยและเหมาะสม ตลอดจนสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อเป็นการรองรับและตอบสนองนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านแพทย์สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ขาดแคลนตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีปริมาณแพทย์ที่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน สังคมและระบบบริการสุขภาพที่มีการขยายงานบริการอย่างกว้างขวางในภูมิภาคต่าง ๆ โดยในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางด้านรังสีวิทยาให้เพียงพอกับระบบบริการสุขภาพของประเทศ

ความเป็นมาของสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยเริ่มให้บริการด้านรังสีวินิจฉัย ณ โรงพยาบาลชั่วคราว (Hut Hospital) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อนที่จะย้ายมาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในปี พ.ศ. 2525 ตราบจนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2565 คณะแพทยศาสตร์ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารโดยปรับเปลี่ยนจากภาควิชาเป็นสาขาวิชา สำหรับหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์นั้นเป็นหน่วยงานภายใต้สาขาวิชารังสีวิทยา ซึ่งก่อตั้งและเริ่มให้บริการผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 โดยมี ผศ. พญ.เนตรเฉลียว สัณฑ์พิทักษ์ เป็นผู้ช่วยเหลือให้การสนับสนุนหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีการพัฒนาในการนำเทคโนโลยีทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มาใช้ในการให้บริการผู้ป่วยตลอดมา โดยพัฒนาจากการใช้ rectilinear scanner จนมีการติดตั้งเครื่อง gamma camera และ SPECT ในเวลาต่อมา และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการติดตั้ง เครื่อง SPECT/CT เครื่อง dedicated cardiac SPECT และเครื่อง PET/CT เป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2552 หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้รับอนุมัติให้เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และรับแพทย์ประจำบ้านรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553 เรื่อยมาตราบจนเท่าปัจจุบัน

ความจำเป็นของการมีหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์ให้บริการตรวจและรักษาด้วยสารเภสัชรังสีที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งให้บริการผู้ป่วยจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในเขตบริการสุขภาพที่ 7 ครอบคลุมประชากรประมาณ 5 ล้านคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ และเขตบริการสุขภาพที่ 8 ครอบคลุมประชากรประมาณ 5.5 ล้านคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ และบางส่วนของเขตบริการสุขภาพที่ 9 และ 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้จังหวัดขอนแก่น เช่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา เป็นต้น ในขณะที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์อีก 2 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ให้บริการแก่ประชากรที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 และ 10 ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเป็นหลัก และปัจจุบันยังไม่ได้เป็นสถาบันฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ด้วยเหตุผลความจำเป็นทางระบบบริการสุขภาพดังกล่าว จึงทำให้มีความจำเป็นที่หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความชำนาญในด้านนี้ให้รองรับการให้บริการแก่ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในปัจจุบันมีการเปิดศูนย์ให้บริการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และโรงพยาบาลร้อยเอ็ด และในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดบริการเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขานี้เพื่อไปปฏิบัติงานที่สถานพยาบาลดังกล่าว และสถานพยาบาลอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้เพื่อให้ฝึกอบรมวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ซึ่งเป็นสาขาวิชาทางการแพทย์เฉพาะทางที่ต้องอาศัยความรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ร่วมกับความสามารถในการทำหัตถการที่ประณีตและซับซ้อน ในการดูแลผู้ป่วยก่อน ในระหว่าง และหลังการตรวจหรือรักษาด้วยสารเภสัชรังสี รวมถึงการป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งแก่ผู้ป่วย บุคคลแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และสภาพแวดล้อม แพทย์ประจำบ้านผู้เข้าฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์จึงควรมีความรู้ครอบคลุมเนื้อหาดังกล่าวทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัตินอกจากความรู้และทักษะด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์แล้ว แพทย์สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ควรมีความสามารถด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เป็นแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีจริยธรรม ทัศนคติ เจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กร มีความรับผิดชอบอย่างเป็นมืออาชีพ เป็นแพทย์ที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพซึ่งทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้ร่วมงาน อื่น ๆ ได้ มีทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ที่ดี เป็นแพทย์ที่มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่น ๆ รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ เป็นแพทย์ที่มีเจตนารมณ์ ความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมถึงมีความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนเป็นแพทย์ที่มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัยเพื่อการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมสุขภาพ โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม มีความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อให้การบริการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ก่อประโยชน์และมีความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน ต่อสังคมและการสาธารณสุขของประเทศ

พันธกิจของหลักสูตรการฝึกอบรม สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากประวัติความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็นดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ จึงได้กำหนดพันธกิจของการฝึกอบรมให้ครอบคลุมในเรื่องการผลิตแพทย์เฉพาะทางในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ให้ตอบสนองกับความต้องการของประเทศ โดยคำนึงถึงบริบทของภูมิภาคและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ (key stakeholders)

เพื่อให้ได้ผู้สำเร็จการฝึกอบรมเป็นแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีคุณสมบัติดังนี้

(1) มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการใช้สารเภสัชรังสีสำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรค รวมถึงการแปลผลภาพถ่ายทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่อาศัยหลักการทางพยาธิสรีรวิทยาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรค การรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ

(2) มีความสามารถในการทำงานแบบมืออาชีพ มีความสามารถทํางานตามหลักพฤตินิสัย และมารยาททางวิชาชีพ (professionalism) สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการปฏิบัติงานโดยไม่ต้องมีการกํากับดูแล

(3) สามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้ โดยมีทักษะในการสื่อสารที่ดีเพื่อทำงานเป็นทีมและการปฏิบัติงานแบบสหสาขาวิชาชีพ

(4) มีเจตนารมย์และเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

(5) มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัยเพื่อการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมสุขภาพ โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม

(6) มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่น รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ

เพื่อให้แพทย์ที่สำเร็จการฝึกอบรมได้นำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ความสามารถ สมรรถนะ ที่ได้รับจาก การฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบสุขภาพของประเทศ ระบบการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย การใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน และเพื่อให้การบริการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ก่อประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัยต่อประชาชน ต่อสังคมและการสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้วิชาการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในประเทศไทย เจริญเติบโต และมีมาตรฐานทัดเทียมกับสากลนิยม

 

เล่มหลักสูตรฉบับเต็ม: download

สอบถามเพิ่มเติม: หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 043363896