หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565
Residency Training in
Radiation Oncology
วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
Diploma, Thai Board of Radiation Oncology
หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย | หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา |
ภาษาอังกฤษ | Residency Training in Radiation Oncology |
ชื่อวุฒิบัตร
ภาษาไทย | วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา |
ภาษาอังกฤษ | Diploma, Thai Board of Radiation Oncology |
ชื่อย่อ
ภาษาไทย | วว. รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา |
ภาษาอังกฤษ | Dip. Radiation Oncology |
คําแสดงวุฒิการฝึกอบรมท้ายชื่อ
ภาษาไทย | วว. รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา |
ภาษาอังกฤษ | Diplomate, Thai Board of Radiation Oncology หรือ Dip., Thai Board of Radiation Oncology |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พันธกิจของหลักสูตร
ในปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานของกองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าประชากรไทยมีอัตราตายจากโรคมะเร็งเป็นอันดับที่ 1 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้โรคมะเร็งเป็นหนึ่งใน service plan ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 และได้พัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุขกระจายตามเขตสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยได้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง
ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีจำนวนประชากรมากถึง 22.2 ล้านคนประกอบกับมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากขึ้น (ประมาณปีละ 5,000 คนและเพิ่มขึ้นในทุกๆปี) ทำให้มีความจำเป็นต้องการแพทย์ทางด้านรังสีรักษามากขึ้น แต่จำนวนบุคลากรที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ โดยเฉพาะในสาขารังสีรักษามีจำนวนน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์สาขารังสีรักษาในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีประชากรมากที่สุดของประเทศจัดอยู่ในภาวะวิกฤตโดยมีผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเข้ามารอคิวรับการรักษาเป็นจำนวนมากนานถึง 3-5 เดือน ถึงแม้ว่าทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะพยายามให้บริการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังแล้วก็ตาม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านบุคลากร
หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นหน่วยที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือและบุคลากรทางรังสีรักษาแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยที่มาขอรับการปรึกษาที่หน่วยรังสีรักษาปละมากกว่า 1,000 รายต่อปีและได้รับการรักษาที่หน่วยปีละประมาณ 900-1,000 ราย รวมถึงยังเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ซับซ้อนจากโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คิวการรอรับบริการยาวนานประมาณ 2-4 เดือน ถึงแม้ว่าจะมีศูนย์มะเร็งเปิดให้บริการเพิ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ตามแต่ความขาดแคลนยังคงมีอยู่ ทางหน่วยจึงเล็งเห็นปัญหานี้ประกอบกับมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขารังสีรักษาตามมาตรฐานของราชวิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งประเทศไทย จึงได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และยังสอดคล้องกับพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือผลิตบัณฑิตทางการแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่มีความรู้ความสามารถ และคุณธรรม และสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล บริการวิชาการ บริการรักษาพยาบาล และสร้างเสริมสุขภาพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็งและมีดุลยภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับความร่วมมือของราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะผลิตแพทย์รังสีรักษาที่เป็นสาขาขาดแคลนอีกด้วย
รังสีรักษาเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลและสามารถทำให้โรคหายขาดได้ จึงเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลก นอกจากรังสีรักษาจะเป็นการรักษามาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก รังสีรักษายังเป็นวิธีการรักษาที่สะดวก ง่าย และเหมาะสมกับเศรษฐานะของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย
เนื่องจากในปัจจุบัน เครื่องฉายรังสีและเทคโนโลยีของรังสีรักษามีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นทั้งเทคนิคในการฉายรังสีและการใส่แร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคและลดภาวะแทรกซ้อนของเนื้อเยื่อปกติ สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้เสนอปรับปรุงหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เพื่อให้เข้ากับการพัฒนาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และแนวทางการใช้รังสีรักษาในปัจจุบัน
พันธกิจของการจัดฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คือผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาเพื่อสนองความต้องการตามนโยบายสาธารณสุขของประเทศโดยเน้นความขาดแคลนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก
โดยเน้นตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้
1. การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care) มีความรู้ความสามารถในเวชปฏิบัติที่ครอบคลมุและเหมาะสมกับบริบทของสาขาวิชาที่เข้ารับการฝึกอบรม
2. ความรู้ความเชี่ยวชาญและความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)
และยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม
3. การเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง(Practice-based Learning and Improvement) มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills) สามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้
5. มีความสามารถในการทำงานแบบมืออาชีพ (Professionalism)
6. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice) และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้ป่วยและญาติ
จึงพัฒนาหลักสูตรขึ้นเพื่อผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในการใช้รังสีรักษา ทั้งวิธีการฉายรังสีด้วยเทคนิคต่างๆและการใส่แร่ในการรักษาผู้ป่วย มีความเข้าใจหลักการทางฟิสิกส์รังสีและชีววิทยารังสี สามารถเข้าใจและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งและแนวทางการรักษามะเร็ง นอกจากนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้แก่ พยาบาล นักฟิสิกส์รังสี นักรังสีการแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็ง และบุคคลากรอื่นๆเพื่อร่วมกันในการดูแล ให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และยังมีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่น
การฝึกอบรมจะมีการมุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม มีการปลูกฝังความเป็นแพทย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยและญาติ มีการฝึกฝนการให้คำปรึกษาและการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้ป่วยและญาติ แพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมควรมีเจตคติและทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ มีความภูมิใจในวิชาชีพความเป็นแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา มีความสามารถทำงานตามหลักพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพ (Professionalism) สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความเอื้ออาทรและ ใส่ใจในความปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ ระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย การใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน
นอกจากการเรียนรู้ทางวิชาการ ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งและการรักษาโรคมะเร็งมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ที่ผ่านมาการฝึกอบรมจะมุ่งเน้นให้แพทย์สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีการฝึกทักษะการอ่าน วิเคราะห์บทความทางวิชาการต่างๆและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพโดยอิงหลักเหตุผล (Critical Thinking and Reasoning) และหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Practice) รวมทั้งมีการฝึกการทำวิจัย เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถต่อยอดทำงานวิจัย เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและวิชาชีพแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาต่อไป
เล่มหลักสูตรฉบับเต็ม: download
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 043363896